วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์ และวิจารณ์กวีนิพนธ์


การวิเคราะห์ และวิจารณ์กวีนิพนธ์ 
๑.      ความหมาย
การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่า ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้าง แต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

๒.      แนวทาง
วิเคราะห์ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ เรื่องย่อ เนื้อเรื่อง เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง แล้วจึงวิจารณ์

๓.      คุณค่าวรรณกรรม
๓.๑ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามได้ ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้ เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๓.๒ คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอ
๓.๓ คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๓.๔ การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

๔.      การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านวรรณศิลป์
วรรณศิลป์ หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลาประโยค ความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี ก่อผลในทางอารมณ์ความรู้สึก เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ วรรณศิลป์ในงานเขียน คืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจ และเกิดจินตนาการสร้างมโนภาพได้ วรรณศิลป์จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ




๕.      การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิด และกลวิธีนำเสนอ วิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระ และแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อ คนอ่าน อาทิ ความรู้ ความคิดเห็น คติ คำสอน ข้อเตือนใจ ชี้ช่องให้มองเห็นความจริง ความดี ชี้ทางแก้ปัญหา แนะสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือสิ่งที่ควรละเว้น แล้ววิจารณ์ งานประพันธ์ที่ดีควรมีเนื้อหาสาระมุ่งสร้างสรรค์ มิใช่มุ่งทำลาย


.      การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านด้านสังคม

การพิจารณาคุณค่าด้านสังคมจากวรรณกรรม ผู้อ่านต้องค้นหาสาระก่อนว่าผู้เขียน ต้องการเสนอ
 สาระอะไรให้กับผู้อ่านเป็นด้านดี หรือด้านเสียของสังคม และผู้อ่าน ต้องพิจารณาว่าพึงปฏิบัติอย่างไร หรือได้แนวคิดอะไรบ้างจากการอ่านวรรณกรรมนั้น วรรณกรรมทุกเรื่องจะสะท้อนภาพชีวิตและสังคม  ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องน้ำพุจะสะท้อนภาพสังคมวัยรุ่นที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนเสียชีวิตในที่สุด แล้ววิจารณ์แสดงความคิดเห็น

๗.      การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
งานประพันธ์ย่อมประกอบด้วยถ้อยคำ เนื้อหาสาระและกลวิธีการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำงานประพันธ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น นำไปเป็นแบบอย่างในการประพันธ์ จดจำถ้อยคำสำนวนไปใช้ ในการพูด การเขียน หรือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เป็นคติสอนใจ เพื่อพัฒนาตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
การนำคุณค่าของงานประพันธ์ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่จะวิเคราะห์เพื่อเลือกจดจำ คิดและนำไปใช้ตามกำลังความคิดของตน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น